ประวัติสมาคม

เมื่อปี พ.ศ.2518 “วิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย”* ได้ถือกำเนิดขึ้นมาโดยการรวมตัวและก่อตั้งจากศัลยแพทย์ 121 ท่านจากศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 8 สาขา สำหรับสาขาศัลยศาสตร์ทรวงอกมีศาสตราจารย์ นายแพทย์กัมพล ประจวบเหมาะ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก โรงพยาบาลศิริราช ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนกลุ่มศัลยแพทย์ทรวงอกในกรรมการบริหารชุดแรก ท่านอาจารย์ได้รวบรวมศัลยแพทย์ทรวงอกในประเทศไทยทั้งหมดจากทุกสถาบัน (27 ท่าน) และตั้งเป็น “ชมรมศัลยแพทย์ทรวงอก” ขึ้น เพื่อรวมตัวเป็นกลุ่มซึ่งอาจารย์กัมพลเป็นประธานและเป็นตัวแทน มีการประชุมกันสม่ำเสมอที่โรงแรมราชศุภมิตร ถนนหลานหลวง และทำกิจกรรมทางวิชาการที่วิทยาลัยศัลยแพทย์มอบหมายให้โดยเฉพาะร่วมจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีอันเป็นประชุมวิชาการ และร่วมกิจกรรมทางวิชาการกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย (ก่อตั้งตั้งแต่ พ.ศ.2505) กับสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศไทย (ก่อตั้งตั้งแต่ พ.ศ.2510) โดยมีการจัดประชุมวิชาการในประเทศทั้งระดับชาติและนานาชาติในส่วนของศัลยศาสตร์ทรวงอก

ในปี พ.ศ.2518 นี้เอง เป็นปีที่ผมสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐฯในสาขาศัลยศาสตร์ (ทั่วไป), ศัลยศาสตร์ทรวงอก และทำวิจัยอยู่หนึ่งปีครึ่งขณะรอสอบบอร์ดกลับมา ได้เข้ารับราชการทำงานเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์แห่งใหม่สุด (เนื่องจากประเทศขาดแคลนแพทย์และกองทัพขาดแคลนแพทย์ทหาร ในขณะนั้นประเทศยังมีพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้เป็นสีชมพู คือ เต็มไปด้วยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และประเทศรอบด้านมีศึกสงครามภายใน รวมทั้งสงครามเวียดนาม สงครามในกัมพูชา-ลาว-และพม่า) โรงเรียนแพทย์ที่ตั้งใหม่ คือ “วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า” (วพม.) ซึ่งก่อตั้งและรับนักศึกษาแพทย์ทหาร (นพท.) เป็นปีการศึกษาแรก คือ พ.ศ.2518 พอดี ผมเข้าเป็นสมาชิกชมรมศัลยแพทย์ทรวงอกคนที่ 27 ที่อาวุโสน้อยที่สุดและเป็นคนสุดท้าย โดยช่วงนั้นมีท่านอาจารย์กัมพล ประจวบเหมาะ เป็นหัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกของโรงพยาบาลศิริราช อาจารย์ชิน บูรณธรรม เป็นหัวหน้าหน่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาจารย์หม่อมกัลยาณกิติ์ กิติยากร เป็นหัวหน้าหน่วยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์บุญเกตุ เหล่าวานิช เป็นหัวหน้าหน่วยที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อาจารย์พันธุ์พิษณุ์ สาครพันธ์ เป็นหัวหน้าหน่วยที่โรงพยาบาลราชวิถี อาจารย์สมบัติ ผดุงจันทร์ เป็นหัวหน้าหน่วยที่โรงพยาบาลทรวงอก อาจารย์พงษ์ศิริ ปรารถนาดี เป็นหัวหน้าหน่วยที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์นพดล ทองโสภิต เป็นหัวหน้าหน่วยที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมทำงานเป็นชมรมกันอย่างกลมเกลียว เข้มแข็ง และได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The 7th Biennial Congress of The Association of Thoracic and Cardiovascular Surgeons of Asia (ATCSA) เมื่อ 17-21 พฤศจิกายน 2528 โดยมีท่านอาจารย์ชินเป็นประธานการจัด อาจารย์ชวลิต อ่องจริต เป็นเลขาธิการ และอาจารย์ธีระ ลิ่มศิลา เป็นประธานวิชาการ การประชุมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีเงินเหลือก้อนใหญ่ซึ่งชมรมของเราไม่ใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นการยากที่จะเก็บและบริหารเงินของส่วนรวมได้ จึงดำริและก่อตั้ง “สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย” ขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2528 เป็นนิติบุคคล โดยมีอาจารย์ชิน บูรณธรรม เป็นนายกท่านแรก (2529-2530) รับมอบเงินจากชมรมมาเป็นกองทุนของสมาคมฯ จนบัดนี้สมาคมฯ มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และมีกรรมการบริหารมาแล้ว 10 ชุดๆ ละ 2 ปี จากสมาชิกชมรมเริ่มต้น 27 คน บัดนี้มีสมาชิกสามัญประมาณ 120 คน สมาชิกกิตติมศักดิ์ 4 ท่าน และสมาชิกกลุ่มนักปฏิบัติการควบคุมเครื่องหัวใจและปอดเทียมอีกประมาณ 100 คน ถึงแม้จำนวนจะเพิ่มขึ้นช้าและน้อยไป ไม่สมดุลกับความเจริญเติบโตของประเทศแต่ก็มั่นคง

การเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมวิชาชีพ ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้ากับมาตรฐาน ในประเทศที่พัฒนาแล้วการที่โรงพยาบาลหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงจะรับบุคคลเข้าร่วมงานร่วมทีม นอกจากดูระดับการศึกษาของทั้งก่อนและหลังปริญญาแล้ว ยังดูว่าเป็นสมาชิกของวิทยาลัยหรือของสมาคมวิชาชีพใดบ้างจึงจะยอมรับให้เข้าทำงานหรือเข้าร่วมสถาบัน เช่น ศัลยแพทย์ทรวงอก นอกจากได้วุฒิบัตรทางศัลยแพทย์ทั่วไป และหรือทางศัลยแพทย์ทรวงอกแล้ว ต้องเป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกฯ ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมโรคหัวใจฯ ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมอุรเวชช์ฯ ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมเวชบำบัดวิกฤต เหล่านี้เป็นต้น ถ้าผู้ใดไม่ได้ร่วมกิจกรรมสมาคมใดเลยจะไม่เป็นที่ยอมรับให้เข้าทำงาน ดังนั้น การเข้าเป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพถือว่ามีความจำเป็น และเป็นมาตรฐานของศัลยแพทย์ท่านนั้นๆ เพราะการเข้าร่วมเป็นสมาชิกมีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมทั้งทางวิชาการ ทางการศึกษาวิจัย และทางสังคมของผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน โดยเฉพาะการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตของการประกอบวิชาชีพนั้นๆ อันส่งผลดีต่อผู้ป่วยและสังคมในที่สุด ในฐานะของสมาชิกที่ดีของสมาคม นอกจากได้รับสิทธิคือมีสิทธิแล้วยังต้องมีหน้าที่ด้วย หน้าที่ขั้นแรก คือ ต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆอย่างสม่ำเสมอ “Participation” เพื่อความคึกคัก เพื่อความเป็นปึกแผ่น เพื่อความสามัคคี และมีพลังในการต่อรองเรียกร้องต่างๆ ประการที่สอง เมื่อท่านในฐานะของสมาชิกมีประสบการณ์สูงขึ้นเรื่อยๆ ท่านต้องแบ่งปันความรู้ความสามารถเป็นวิทยาทานทั้งด้านวิชาการและการบริหารให้แก่สมาชิกรุ่นน้องเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์และผลประโยชน์ไปในอนาคต นั่นคือ “Contribution” ประการที่สาม เมื่อมีอาวุโสมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น ท่านอาจต้องทำงานให้สมาคมหรือได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนสมาชิกดำเนินกิจการต่างๆให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นี่เป็นความรับผิดชอบ “Responsibility” ซึ่งสมาชิกทุกคนต้องมีส่วนตามลำดับ ดังนั้น “Participation – Contribution – Responsibility” จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกที่ดีทุกคน “อย่าถามว่าสมาคมให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามว่าท่านในฐานะสมาชิกที่ดีให้อะไรแก่สมาคมบ้าง” จากสิทธิและหน้าที่คงเป็นคำตอบ

ในสถานภาพส่วนตัวได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมศัลยแพทย์ทรวงอกตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นสมาชิกของสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกฯ และกรรมการบริหารทุกตำแหน่งตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ 20 ปีผ่านไป และในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกของสมาคมฯ (2543-2545) ได้มีโอกาสเป็นประธานจัดการประชุม The 16th Biennial Congress of The Association of Thoracic and Cardiovascular Surgeons of Asia (ATCVA) และเป็นประธานของสมาคม ATCVA (2546-2548) ได้เห็นความเจริญเติบโตของทั้งในประเทศและในภูมิภาคนี้ ได้ร่วมริเริ่มก่อตั้งการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป (ตั้งแต่ พ.ศ.2518) และสาขาศัลยศาสตร์ทรวงอก (ตั้งแต่ พ.ศ.2522) ของทั้งสถาบันของตนเอง (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) และของแพทยสภาซึ่งสมาคมฯรับผิดชอบอยู่ ในสาขาศัลยศาสตร์ทรวงอกของเรานั้น ประกอบไปด้วย General Thoracic, Adult Cardiac และ Congenital Cardiac Surgery ปัจจุบันนี้ศัลยแพทย์ทรวงอกหลายท่านลืมไปว่าเป็นความรับผิดชอบของตนที่ต้องรักษาผู้ป่วยทั้งสามด้าน ลืมไปจนดูแลหรือผ่าตัดผู้ป่วย General Thoracic (ปอด หลอดลม หลอดอาหาร ฯลฯ) ไม่เป็น เลือกทำแต่ที่สนใจ (ด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป) ถ้าท่านไม่ทำ ไม่หัดทำ ก็จะทำไม่เป็น แล้วใครจะดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ เรายังไม่มีศัลยแพทย์ทรวงอกมากพอที่จะเลือกทำอย่างเดียวเช่นในสหรัฐหรือในยุโรป พวกเราศัลยแพทย์ทรวงอกหลายๆท่านมีโอกาสได้ไปศึกษาในประเทศทางตะวันตกที่พัฒนาแล้ว เมื่อกลับมาจึงพยายามจะคิดแบบเขา จะวางแผนแบบเขา และจะทำแบบเขาทั้งหมด จึงล้มเหลวตลอดมา แน่นอนความเจริญและการพัฒนาให้ทันกับวิทยาการระดับนานาชาติต้องมีและทำร่วมไปด้วย ประเทศไทยยังเป็นเพียงประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม มีความภาคภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการสถาปนาสมาคมฯ ที่มีผลงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมคือประเทศของเรา

* วิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็น “ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2523